“ความสำเร็จของแต่ละคนก็แล้วแต่เป้าที่วางไว้ แต่ ณ ตอนนี้ ด้วยอายุเท่านี้ กับเป้าที่เคยวางไว้ก็รู้สึกว่ามีความสุข แต่หากเวลาที่เราทำอะไรสำเร็จอะไรแล้ว มันก็ควรต้องมีการวางเป้าหมายอื่นต่อไป เพื่อที่จะขับเคลื่อนชีวิต เพื่อสร้างเอเนอร์จี้ให้เราตั้งใจทำอะไรมากขึ้น ให้เราเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างๆ มากขึ้น”
Issara Life Ep. นี้ขอต้อนรับเดือนแห่งวันสตรีสากล กับบทบาทของหญิงแกร่งและเก่งที่สวมบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ ที่เธอบอกว่าต้องอดทน เสียสละ ต่อบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบทั้งการทำงานตามความฝัน และการดูแลครอบครัว ที่ต้องให้เวลาเต็มร้อย กับทั้งสองบทบาท “เชฟแพม-พิชญา สุนทรญาณกิจ เจ้าของรางวัลเชฟหญิงยอดเยี่ยมแห่งเอเชียประจำปี 2024” กับความภาคภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งของผู้หญิงไทยที่จะช่วยให้คนทั่วโลกได้รู้จักประเทศไทย อาหารไทย รวมถึงเป็นแรงขับเคลื่อนให้ผู้หญิงหลายๆ คนในสายอาชีพอื่นๆ ได้เดินไปสู่เป้าหมายของตัวเอง
เส้นทางสายอาชีพเชฟ ของ “เชฟแพม” นั้นกว่าจะมาเป็นเชฟหญิงยอดเยี่ยมแห่งเอเชียเป็นเพราะความชอบ และหลงใหลในการทำอาหารที่ติดสอยห้อยตามช่วยคุณแม่มาตั้งแต่เด็กจึงเป็นแพสชั่นให้รักและอยากเรียนทำอาหาร แม้จะเข้าเรียนคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ แต่ด้วยใจรักในการทำอาหารเลยตัดสินใจคุยกับคุณพ่อ คุณแม่ และลงเรียนคอร์สทำอาหารช่วงเสาร์ - อาทิตย์ ควบคู่ไปกับการเรียนที่จุฬา พอเรียนจบปริญญาตรี เลยคิดว่าจะลงเรียนทำอาหารอย่างจริงจังที่นิวยอร์ก ซึ่งเป็นการเรียนที่เริ่มต้นจากศูนย์ พร้อมเรียนรู้หาประสบการณ์การเป็นเชฟตามโรงแรมต่างๆ ที่เมืองไทย รวมถึงร้านอาหารต่างๆ เพื่อเป็นใบเบิกทางในการเข้าไปศึกษาต่อด้านอาหารที่นิวยอร์ก แต่ในช่วงที่ฝึกงานในร้านอาหารฝรั่งเศส มีเชฟชาวฝรั่งเศสท่านหนึ่ง ซึ่งเขาเป็นคณะกรรมการแข่งขันรายการทำอาหาร ส่งเราเข้าไปเป็นตัวแทนชาวเอเชียแข่งขันการทำอาหารที่เซี่ยงไฮ้ ปรากฏว่าชนะการแข่งขัน ทำให้ตอนนั้นต้องยืดเวลาการไปเรียนต่อที่นิวยอร์ก ไปจนถึงปี 2011 ถึงได้เดินทางไปตามหาความฝันอย่างจริงจัง
หลังจากไปเรียนทำอาหารอย่างจริงจังที่นิวยอร์ก โดยลงเรียนแนวการทำอาหารฝรั่งเศส ซึ่งเมื่อเรียนจบจึงได้เข้าสู่วงการอาหารเต็มตัว และมองว่าอาชีพทำอาหารนั้นเปิดพื้นที่ให้กับผู้หญิงพอสมควร และจะมีพื้นที่มากขึ้นในอนาคต การเดินทางสู่เส้นทางเชฟสิ่งสำคัญที่เชฟแพมใช้เป็นหลักในการยึดเหนี่ยวจิตใจคือเรื่องของความอดทน ไม่ว่าจะเป็นอดทนเรื่องร่างกาย อดทนเรื่องเวลาที่ต้องยืนเป็น 10 ชั่วโมง เพราะอาชีพเชฟมันต้องใช้เวลากว่าที่เราจะไต่เต้ามาแต่ละขั้นตอน ยิ่งพอมีครอบครัวนอกจากความอดทน เราต้องรู้จักเสียสละเวลากับครอบครัว เพื่อตามล่าความฝันของเรา ดังนั้นเรื่องการแบ่งเวลาจึงเป็นอะไรที่เครียดมาก เพราะมันมีคำจำกัดความของคำว่าการเป็นแม่ที่ดี ที่เรารู้สึกว่าสังคมควรจะต้องให้เป็น ดังนั้นเวลาที่เราทำงานก็ทำอย่างเต็มที่100% และเมื่อถึงวันหยุดก็จะใช้เวลาในการดูแลลูก ดูแลครอบครัวเต็มที่ 100% เช่นเดียวกัน
จากการตามหาความฝันจากสิ่งที่หลงใหลมาจนถึงวันนี้ที่ได้เป็นใน 1 ของผู้หญิงที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น Asia’s Best Female Chef แห่งปี 2024 เป็นอะไรที่ดีใจมาก รู้สึกว่าเราเป็นเหมือนตัวแทนของผู้หญิงไทยที่ได้รับรางวัลนี้ ที่จะทำให้คนรู้จักประเทศไทยมากขึ้น ในแง่ของอาหาร ในแง่ของการเป็นผู้หญิงในวงการนี้
“ต้องบอกว่าผู้หญิงที่อยู่ในครัวประเทศไทยเราเยอะมาก เยอะกว่าหลายๆ ประเทศ เวลาคนนึกถึงอาหารก็จะนึกถึงผู้หญิงที่ทำอาหาร แต่ว่าในโลกโปรเฟสชั่นแนลเชฟผู้หญิงที่ได้รับการยอมรับมันยังไม่พร้อม มันมีมากกว่านี้ เลยคิดว่ารางวัลที่ได้รับในครั้งนี้ จะเป็นใบเบิกทาง และกำลังใจให้ผู้หญิงที่ยังต่อสู้กับอะไรหลายๆ ว่ายังมีจุดให้เราสามรถไปต่อได้อีก ไม่ใช่แค่รางวัลเฉพาะสายอาชีพเชฟ แต่ยังขยายไปยังมุมอื่นๆ ให้กับผู้หญิงเก่งๆ ได้อีกมากมาย”
สำหรับความสำเร็จที่ได้มาในครั้งนี้แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ตัวเราต้องพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะการนำพาอาหารไทยไปให้คนทั่วโลกได้รู้จัก มากกว่าการรู้จักแค่ว่าประเทศไทยมีต้มยำกุ้ง แกงพะแนง แกงมัสมั่น ดังนั้นเป้าหมายที่อยากทำต่อไปคือการนำพาร้านอาหาร โพทง (Potong) Progressive Thai-Chinese Cuisine หนึ่งในร้านอาหารของแพม ให้ Go Inter ด้วยการพัฒนาทีม สร้างเชื่อมั่นในตัวแพม สร้างความเชื่อมั่นในตัวร้าน พร้อมผลักดันเชฟใหม่ๆ ให้เขาได้มีโอกาสเติบโตในสายอาชีพ เป็นเสมือนซอฟต์พาวเวอร์คนไทย ให้กับต่างประเทศอย่าง ยุโรป หรือ อื่นๆ ได้รับรู้ถึงความเป็นไทยผ่านการรังสรรค์เมนูอาหาร
เชฟแพม กล่าวทิ้งท้ายถึงคติในการทำงานว่า เราต้องรู้จักนอบน้อมทั้งต่อตัวเอง และผู้อื่น อย่ายอมแพ้ การทำงานต้องมีสะดุดล้มบ้าง แต่สิ่งที่สำคัญคือเราจะกลับมายังไงให้สตรอง และพร้อมเดินต่อไปข้างหน้า