ย้อนรำลึก “คิดถึง ... สมเด็จย่า เดินหน้าปลูกป่า ปลูกคน 50 ปี มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ”
ใจกลางเมืองย่านพระราม 4 ที่พลุกพล่าน คลาคล่ำไปด้วยผู้คน และตึกสูง อาคารขนาด 4 ชั้น ออกแบบตกแต่งคล้ายหัตถกรรมเครื่องสานถูกโอบล้อมอยู่ท่ามกลางความศิวิไลซ์ อาคารที่ว่านี้เป็นที่ตั้งของ “มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ” ในวันนี้ Issara Life Blog เรามีนัดกับ ม.ล. ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ที่ได้ให้โอกาสในการเข้ามาพูดคุยถึงการเตรียมจัด งาน “คิดถึง...สมเด็จย่า ครั้งที่ 25 และ 50 ปี มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ” ภายใต้แนวคิด จากจุดเริ่ม ถึงจุดเปลี่ยน สู่โอกาส เดินหน้า “ปลูกป่า ปลูกคน” ซึ่งจัดขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ที่จะจัดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมนี้
เรามาถึงก่อนเวลานัดหมายเล็กน้อยจึงได้มีโอกาสเดินสำรวจภายในมูลนิธิฯ ซึ่งประจวบเหมาะกับที่มูลนิธิฯ มีการจัดงาน “กาดกลางกรุง” ผู้คนภายในมูลนิธิฯ จึงหนาแน่นเป็นพิเศษ ด้วยแฟนคลับตัวยงที่มาช็อปสินค้า - ผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ดอยตุง และชิมอาหารจากครัวตำหนัก
ระหว่างทางเดินไปยังห้องสัมภาษณ์ แต่ละชั้นของมูลนิธิฯ ที่เราเดินผ่านมีการจัดแสดงภาพการทรงงานของสมเด็จย่า และปณิธานในการสร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่ชาวไทยภูเขา ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ตอกย้ำถึงพันธกิจของมูลนิธิฯ ที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี
ก่อนพูดคุยถึงการจัดงาน ม.ล. ดิศปนัดดา ดิศกุล ได้เล่าถึง ความเป็นมาของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ให้ฟังว่า
“มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เราก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2515 ในปีนี้ก็ครบ 50 แล้ว ในตอนเริ่มต้นไม่ได้เป็นชื่อนี้ แต่ชื่อว่า มูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทย ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตอนแรกๆ ที่ก่อตั้งขึ้นมา เราก่อตั้งมาเพื่อช่วยเรื่องการส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ งานฝีมือ ของชาวไทยภูเขา ในตอนที่สมเด็จย่าท่านเสด็จตรวจเยี่ยมราษฎรที่อยู่ชายขอบของประเทศ ในพื้นที่ทุรกันดาร หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2528 จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ที่ยังคงมีวัตถุประสงค์ในการรับซื้อผลิตภัณฑ์ของชาวไทยภูเขา และนำมาจำหน่ายในราคาที่เป็นธรรม รวมถึงครอบคลุมการพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม”
เมื่อพูดถึงมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง สิ่งที่มาคู่กันคือ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่ทรงงานของสมเด็จย่า ในด้านการปลูกป่า
“เมื่อครั้งสมเด็จย่า ท่านทรงมีพระชนพรรษาครบ 90 ปี คุณพ่อ (ม.ร.ว. ดิศนัดดา ดิศกุล) เล่าให้ฟังว่าในขณะนั้นได้มองหาสถานที่ ที่มีภูมิอากาศ และภูมิประเทศที่ใกล้เคียงประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ให้สมเด็จย่าท่านประทับ จนกระทั่งมาพบกับดอยตุง ซึ่งมีอากาศที่ใกล้เคียง แต่ค่อยข้างอันตรายมาก เพราะเป็นพื้นที่ชายแดน ห่างไกลความเจริญ และมีการค้ายาเสพติดในพื้นที่ สมเด็จย่าเสด็จพระราชดำเนินยังดอยตุง จังหวัดเชียงราย เมื่อพระชนมายุ 87 พรรษา ทอดพระเนตรภูเขาอันโล้นแล้ง และความเป็นอยู่อันแร้นแค้นของชาวไทยภูเขาบนดอยตุง มีพระราชดำรัสว่า
"ตกลงจะมาสร้างบ้านที่นี่ แต่ถ้าไม่มีโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ฉันก็จะไม่มา”
สมเด็จย่าท่านทรงตรัสมาตลอดคือ ท่านประสงค์ที่จะปลูกป่า คุณพ่อก็เลยถามว่า
“หากจะไปประทับที่ดอยตุง ไปทรงปลูกป่าที่นั่นเลยไหมพระเจ้าคะ” (ม.ร.ว. ดิศนัดดา ดิศกุล)
จึงเกิดเป็นโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในปี พ.ศ. 2531 เป็นจุดเริ่มต้นของแนวทาง “ปลูกป่า ปลูกคน” จากนั้นชาวบ้านที่ทำไร่เลื่อนลอย ปลูกฝิ่น ค้ามนุษย์ ค้าอาวุธ ก็เริ่มหันมาทำอาชีพที่สุจริต เราก็เริ่มที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับคนในพื้นที่โดยการสร้างอาชีพ ต่างๆ ขึ้นมาให้หลากหลายครอบคลุมทุกเพศ ทุกวัย ไม่กีดกันสัญชาติ กลายเป็น 5 ธุรกิจของดอยตุงในทุกวันนี้ ประกอบด้วยหัตถกรรม การเกษตร ท่องเที่ยว อาหารแปรรูป (กาแฟและแมคคาเดเมีย) และคาเฟ่ ดอยตุง”