Lifestyle

เสพงานศิลป์ เยือนถิ่นวังหลัง ณ พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

“พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน” นำเสนอเรื่องราวทางการแพทย์แผนไทย และประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า บริเวณคลองบางกอกน้อยวังหลัง ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี สืบมาจนถึงปัจจุบัน


           ถ้าพูดถึงความน่าสนใจของการเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ หลายคนคงคิดถึงความน่าเบื่อ มีแต่เรื่องเก่าๆ เดิมๆ ยิ่งถ้าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการแพทย์ด้วยแล้ว อาจจะไม่อินในการเดินชม หรือไม่ก็ไม่มาชมเลย แต่พิพิธภัณฑ์ที่ Issara Life Blog จะพาไปชมกันในครั้งนี้ บอกได้คำเดียวว่าทั้ง สนุก ตื่นเต้น ลุ้นระทึกทุกห้อง ที่เข้าชม จนสามารถทำให้คุณเปิดโลกทัศน์เกี่ยวกับการแพทย์ ให้เป็นเรื่องที่สนุก น่าตื่นเต้น และจับต้องได้ จนคุณจะต้องลบภาพการเที่ยวพิพิธภัณฑ์แบบเดิม ๆ ออกไป

            ก่อนอื่นเราต้องขอแนะนำพิพิธภัณฑ์ที่เราจะพาไปเที่ยวชมกันในครั้งนี้ นั่นคือ “พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน” เป็นพิพิธภัณฑ์จัดสร้างขึ้นใหม่โดยใช้อาคารสถานีรถไฟธนบุรี (เดิม) ตั้งอยู่ ภายใต้โครงการ “สถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช” คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นำเสนอเรื่องราวที่ทรงคุณค่ายิ่ง ทั้งทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่บริเวณคลองบางกอกน้อยวังหลัง ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี สืบมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นยังแสดงประวัติของศิริราช ประวัติการแพทย์แผนไทย การสร้างทางรถไฟสายใต้และวิถีชุมชนบางกอกน้อย โดยใช้เทคนิคนำเสนออย่างทันสมัย

           เมื่อเราเดินทางมาถึงมาที่โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ แล้วเดินมาทางด้านหลังตึกโรงพยาบาลทางด้านริมน้ำก็จะเจอกับทางเข้าสวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ให้เดินตรงเข้ามาเลย บริเวณรอบอาคารพิพิธภัณฑ์และทางเดินไปท่าน้ำ หรือ ทางเดินระหว่างอาคาร จะมีการปลูกต้นไม้ไทย ที่มีคุณค่าเป็นสมุนไพร อยากรู้ว่าต้นไม้ชื่ออะไร ก็อ่านจากป้ายชื่อของต้นไม้แต่ละต้นที่บอกทั้งชื่อต้นไม้ และสรรพคุณที่มีประโยชน์ และเมื่อเดินมาถึงด้านในก็ต้องสะดุดตากับ พลับพลาสยามินทราศิริราชานุสรนีย์ ภายในพลับพลาประดิษฐานพระบรมราชานุเสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอุ้ม พระราชโอรส คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ไว้บนพระเพลา ชื่อโรงพยาบาลศิริราช ได้พระราชทานตามพระนามของพระราชโอรสพระองค์นี้


          ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ฝั่งคลองบางกอกน้อย ได้จัดแสดงหัวรถจักรไอน้ำไว้ บริเวณนี้เคยเป็นสถานีรถไฟธนบุรี หรือ สถานีบางกอกน้อย เป็นต้นทางของขบวนรถไฟสายใต้สายแรก ในสมัยรัชกาลที่ 5 ต้นทางสถานีธนบุรี ปลายทางสถานีเพชรบุรี ต่อมาสถานีแห่งนี้ได้ถูกทำลายในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และบูรณะ ขึ้นมาใหม่ สร้างอาคารสถานีแห่งใหม่ เปิดใช้ในปี พ.ศ. 2493 จนเลิกใช้อย่างถาวรในปี พ.ศ. 2546


          เดินต่อมาถึงอาคารสถานีเดิมที่เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ภายในโถงด้านใน ให้บรรยากาศถึงการเตรียมตัวขึ้นรถไฟ เพราะยังคงรูปแบบห้องขายตั๋วรถไฟ ที่ดัดแปลงเป็นห้องจำหน่ายบัตรเข้าชม และเก้าอี้ในห้องโถงก็ยังเป็นเก้าอี้ที่จะพบเห็นได้ในสถานีรถไฟสมัยก่อน


          เริ่มเดินชมที่อาคารหลัก ซึ่งจัดแสดงเกี่ยวกับความเป็นมาของสถานที่ และพระมหากรุณาธิคุณและพระเมตตาคุณของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่มีความเกี่ยวข้องกับสถานที่แห่งนี้ จนถึงการชมภาพยนตร์ 4 มิติ ย้อนอดีตไปชมการเปิดใช้สถานีแห่งนี้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของทางรถไฟสายใต้ จนถึงปัจจุบัน ส่วนชั้นสองนั้นจัดแสดงจุดเริ่มต้นของการกำเนิดโรงเรียนแพทย์แห่งแรกของประเทศไทยจนกลายมาเป็นโรงพยาบาลศิริราชในปัจจุบัน มีแบบจำลองห้องเรียน ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน และ การแพทย์แผนไทย และสำหรับท่านผู้สูงอายุ หรือผู้พิการที่ต้องการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ก็ไม่ต้องกังวลเลย เพราะอาคารแห่งนี้ได้ประยุกต์รองรับผู้สูงอายุ และ วีลแชร์ โดยมีลิฟท์โดยสารที่ทันสมัยไว้รองรับภายในอาคาร

          ห้องแรกที่จะได้ชมคือ ห้องศิริสารประพาส ที่จัดเป็นเหมือนห้องสมุด มีวิดีทัศน์เล่าความเป็นมา และสิ่งของที่จัดแสดงภายในห้องที่ได้จากการขุดปรับพื้นที่ก่อนที่จะสร้างโรงพยาบาล นอกจากนี้โต๊ะเก้าอี้ที่จัดไว้ในห้องนี้ ก็เป็นชุดที่นักเรียนแพทย์ในยุคสมัยก่อนใช้นั่งเรียนกันจริงๆ

           
             ห้องศิริราชขัตติยพิมาน ห้องที่จะนำผู้เข้าชมร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระเมตตาคุณของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่มีต่อโรงพยาบาลศิริราชและการแพทย์ของประเทศไทยมายาวนาน


           ห้องสถานพิมุขมงคลเขต ถ่ายทอดพระราชประวัติกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ผ่านจิตรกรรมไทยแบบประเพณี จัดแสดงหุ่นละครพระราชนิพนธ์เรื่อง พระศรีเมือง และภาพปักตัวละครเอกใน วรรณคดีเรื่อง ไซ่ฮั่น


            ฐานป้อมพระราชวังหลัง หลักฐานทางโบราณคดีที่เหลืออยู่ของพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) อิฐแต่ละก้อนที่เรียงซ้อนกันสามารถเล่าเรื่องราวของอดีตและสภาพสังคมเมื่อกว่า 200 ปีได้อย่างมากมาย เครื่องถ้วยโบราณ ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยโบราณหลายยุคสมัยที่ขุดพบระหว่างการก่อสร้างสถาบันการแพทย์ สยามินทราธิราช แสดงให้เห็นถึงความสำคัญ ของพื้นที่บริเวณปากคลองบางกอกน้อย


           ห้องโบราณราชศัสตรา จัดแสดงศาสตราวุธหลากชนิดหลายชาติพันธุ์ ล้วนทรงคุณค่า ที่คณะแพทยศาสตร์ฯ ได้รับมอบจากราชสกุล “เสนีวงศ์” ซึ่งเป็นราชสกุล ที่สืบเชื้อสายจากกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ห้องคมนาคมบรรหาร ห้องชมภาพยนตร์ ที่ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงและอยู่ระหว่างเตรียมการในการนำภาพยนต์เรื่องใหม่มาฉายเรื่อง “เบนน้อยผจญภัย” เร็วๆนี้

            ห้องศิริราชบุราณปวัตติ์ บอกเล่าเรื่องราว ภาพประวัติศาสตร์และที่มาของการสร้างโรงศิริราชพยาบาล เป็นโรงพยาบาลหลวงแห่งแรกในแผ่นดินสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 5 ความทุ่มเทเสียสละ ของพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ รวมถึงองค์บิดาแห่งการแพทย์และการสาธารณสุขของไทย สมเด็จพระมหิตลา ธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในรัชกาลที่ 9 จนทำให้เราได้มีโรงพยาบาลศิริราช และรากฐานทางด้านการสาธารณสุขที่ดีที่สุดในภูมิภาคนี้ก็ว่าได้


           หุ่นกายวิภาคมนุษย์ ปฐมบทของสื่อการเรียนกายวิภาคศาสตร์ใน โรงเรียนแพทย์ยุคแรก หุ่นจำลองที่ทำจาก เยื่อกระดาษอายุเกือบร้อยปีนี้เป็นประจักษ์ พยานของความก้าวหน้าในวิชาแพทย์สมัยนั้น สมเด็จพระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและ สาธารณสุขของไทย” ผู้ทรงเป็นแบบอย่าง แห่งความเพียร ความอุตสาหะ และการ เสียสละโดยเห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวม เป็นสำคัญ อาจารย์ใหญ่ หัวใจสำคัญของการเรียนวิชากายวิภาคศาสตร์ ที่นักศึกษาแพทย์ทุกคนรู้จัก เคารพและ เรียกขานกันว่า“อาจารย์ใหญ่” โต๊ะปฏิบัติ การชุดนี้เคยรองรับ “อาจารย์ใหญ่” มารุ่น แล้วรุ่นเล่า การจำลองการผ่าตัด เมื่อชีวิตผู้ป่วยอยู่ในความรับผิดชอบของ ท่าน ร่วมเป็นหนึ่งในทีมผ่าตัดเพื่อปฏิบัติ การในห้องผ่าตัดจำลองย้อนยุค และเข้าถึง หัวใจของการทำ งานเป็นทีม มหัศจรรย์ร่างกายมนุษย์ ไขรหัสการแพทย์ ความจริงเกี่ยวกับร่างกาย มนุษย์ ในมุมมองของการแพทย์แผนไทย และการแพทย์แผนตะวันตก ถอดรหัสความ รู้สู่การมีสุขภาพดีด้วยหลักธรรมานามัย ร้านโอสถวัฒนา รวบรวมสมุนไพรไทยหลายร้อยชนิด อัศจรรย์ สรรพคุณยาไทยในร้านขายยาโบราณ พร้อม เครื่องมือ อุปกรณ์หลากหลาย พัฒนามาเป็น การผลิตยาด้วยเทคนิคที่ทันสมัย


          ไฮไลท์สุดท้ายของการชมพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน คือ “นิวาสศิรินาเวศ” อาคารโกดังสินค้าริมคลองบางกอกน้อย จัดแสดงบรรยากาศวิถีชีวิตสองฝั่งคลองบางกอกน้อยในอดีต มีชาวบางกอกน้อย ชุมชนใกล้เคียงและข้าราชการมาตั้งถิ่นฐาน มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม งานศิลป์ ภูมิปัญญา และความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันแต่ก็ได้หลอมรวมเป็นวิถีชีวิตของชุมชนบางกอกน้อย และจัดแสดงสิ่งแสดงสำคัญที่ขุดค้นพบขณะสำรวจทางโบราณคดี คือ เรือโบราณขนาดใหญ่ ที่พบบริเวณเยื้องอาคารพิพิธภัณฑ์ 4 ปัจจุบันตรงกับบริเวณอาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 เป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของประเทศไทย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจึงร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทำการเก็บกู้ อนุรักษ์ พร้อมทั้งศึกษาค้นคว้าในเชิงลึก เรือโบราณลำนี้ถูกกลบฝังอยู่ใต้รางรถไฟ ลึกลงไปจากผิวหน้าดินปัจจุบันประมาณ 5 -7 เมตร มีขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 24 เมตร ลำเรือเชื่อมต่อส่วนต่างๆ ด้วยตะปู เขี้ยวโลหะ และหุ้มด้วยแผ่นทองเหลืองตลอดทั้งลำ นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนเครื่องถ้วยหลากหลายประเภทในชั้นดินภายในลำเรือ ซึ่งได้มาจัดแสดงรอบเรือโบราณด้วย


           พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ตั้งอยู่ในพื้นที่โรงพยาบาลศิริราช เขตบางกอกน้อย กทม. เปิดให้บริการวันจันทร์, พุธ-อาทิตย์ (หยุดวันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา 10.00-16.30 น. (ปิดจำหน่ายบัตรเวลา 15.30 น.) ค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ผู้ใหญ่ 80 บาท เด็ก (ไม่เกิน 18 ปี) 25 บาท ต่างชาติ 200 บาท เด็กสูงไม่เกิน 120 ซม. เข้าฟรี สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2419-2601, 0-2419-2618-9 Facebook: siriraj.museum